พินอินคืออะไร? สำคัญกับคนเรียนภาษาจีนยังไง?
พินอินคืออะไร?
พินอิน (拼音 pīnyīn) คือ ระบบการถอดเสียงภาษาจีนด้วยตัวอักษรละตินซึ่งก็คือตัวอักษรภาษาอังกฤษ A-Z ที่คนไทยเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ปัจจุบันการออกเสียงระบบพินอินใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน รวมทั้งมีการเรียนการสอนให้นักเรียนชาวต่างชาติที่เรียนภาษาจีนทั่วโลก โดยพินอินถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ชาวต่างชาติเรียนภาษาจีนกลางได้อย่างสะดวกรวดเร็วและออกเสียงได้อย่างถูกต้อง
พินอินมีหน้าตายังไง? ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
พินอินประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างดังนี้
1. พยัญชนะ (声母 shēngmǔ)
มีทั้งหมด 23 ตัว แบ่งออกเป็น
1.1 พยัญชนะทั่วไป 21 ตัว
- b p m f
- d t n l
- g k h
- j q x
- zh ch sh r
- z c s
1.2 พยัญชนะกึ่งสระ 2 ตัว
- y w
2. สระ (韵母 yùnmǔ)
มีทั้งหมด 36 ตัว แบ่งออกเป็น
2.1 สระเดี่ยว 6 ตัว
- a o e i u ü
2.2 สระประสม 30 ตัว
- ai ao an ang
- ou ong
- er ei en eng
- ia iao ie iu ian in iang ing iong
- ua uo uai ui uan un uang ueng
- üe üan ün
3. วรรณยุกต์ (声调 shēngdiào)
มี 4 รูป 5 เสียง ได้แก่
- เสียง 1 แทนด้วยสัญลักษณ์ - เช่น ā ē ī ō ū ǖ
- เสียง 2 แทนด้วยสัญลักษณ์ / เช่น á é í ó ú ǘ
- เสียง 3 แทนด้วยสัญลักษณ์ v เช่น ǎ ě ǐ ǒ ǔ ǚ
- เสียง 4 แทนด้วยสัญลักษณ์ \ เช่น à è ì ò ù ǜ
- เสียงเบา ไม่มีรูปวรรณยุกต์ เช่น a e i o u ü
ดูเผินๆแล้วจะเห็นว่าพินอินมีหน้าตาคล้ายคำศัพท์ภาษาอังกฤษทั่วไป เพียงแต่เติมเสียงวรรณยุกต์หรือ 声调 ซึ่งมีลักษณะเป็นขีดสั้นๆวางไว้เหนือตัวอักษรเพื่อบ่งบอกโทนเสียงของคำเหล่านั้น เช่น
- คำว่า "ไหม"
ภาษาจีนกลางคือ 吗 พินอินคือ "ma" (เสียงเบา) ออกเสียงว่า "มะ"
- คำว่า "แม่"
ภาษาจีนกลางคือ 妈 พินอินคือ "mā" (เสียง 1) ออกเสียงว่า "มา"
- คำว่า "ม้า"
ภาษาจีนกลางคือ 马 พินอินคือ "mǎ" (เสียง 3) ออกเสียงว่า "หม่า"
พินอินแตกต่างจากภาษาอังกฤษยังไง?
1. มีวรรณยุกต์
ตามที่ได้กล่าวไปด้านบน เมื่อดูจากภายนอกพินอินต่างจากภาษาอังกฤษตรงที่มีการใส่วรรณยุกต์ (声调) กำกับไว้เหนือตัวอักษร ซึ่งตรงนี้จะคล้ายกับภาษาไทยที่มีวรรณยุกต์เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น คำว่า "สตรอว์เบอร์รี" ภาษาจีนคือ 草莓 พินอินคือ cǎoméi
"cǎoméi" ประกอบด้วยเสียงที่ 3 (สัญลักษณ์ ˇ ) และเสียงที่ 2 (สัญลักษณ์ / )
เมื่อเห็นเสียงวรรณยุกต์ที่กำกับไว้ ผู้เรียนพินอินจึงทราบว่าคำๆนี้ออกเสียงว่า "ฉ่าวเหมย" ไม่ใช่ "ฉาวเหมย" หรือ "ฉาวเหม่ย"
2. ระบบการออกเสียงพยัญชนะและสระ
แม้จะใช้ตัวอักษร A-Z เหมือนกัน แต่พินอินมีการออกเสียงไม่เหมือนภาษาอังกฤษ แต่จะออกเสียงตามแบบของระบบพินอินเอง
ตัวอย่างเช่น ตัว c ใน "cǎoméi" ออกเสียงคล้าย "ฉ"
ในขณะที่ในภาษาอังกฤษ ตัว c จะออกเสียงคล้าย "ค" เช่น cow หรือ corn เป็นต้น
มาถึงตรงนี้ทุกคนคงพอเข้าใจหลักพินอินแบบคร่าวๆกันแล้วนะคะ ต่อไปเรามาดูที่มาของระบบพินอิน รวมทั้งประโยชน์ของการเรียนพินอินกันบ้างค่ะ
พินอินมีที่มาอย่างไร? ใครเป็นคนสร้างขึ้น?
เดิมที "พินอิน" ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กับคนจีนเอง เนื่องจากขณะนั้นมีคนจีนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มากถึง 85% รัฐบาลจีนจึงต้องการเพิ่มอัตราการรู้หนังสือของคนในประเทศ โดยในปี ค.ศ. 1955 รัฐบาลจีนได้ก่อตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า "คณะกรรมการปฏิรูปภาษาเขียนของจีน" และมอบหมายให้นักภาษาศาสตร์นาม 周有光 (Zhōu Yǒuguāng) ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งพินอิน" (汉语拼音之父) เป็นหัวหน้าทีม และใช้เวลาพัฒนาระบบพินอินเป็นเวลา 3 ปีเต็ม
周有光 (Zhōu Yǒuguāng 1906-2017) บิดาแห่งพินอิน
พินอินมีประโยชน์ยังไง? ทำไมคนเรียนภาษาจีนต้องเรียนพินอิน?
กล่าวได้ว่า "พินอิน" เป็นหัวใจสำคัญของการออกเสียงภาษาจีนกลางอย่างเป็นมาตรฐาน
อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล มีภาษาถิ่นและสำเนียงแตกต่างกันมากมาย พินอินจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชาวจีนทุกภูมิภาคออกเสียงได้ใกล้เคียงกับมาตรฐานมากที่สุด
สำหรับชาวต่างชาติที่เรียนภาษาจีนกลางเป็นภาษาที่สามอย่างเราๆก็เช่นกัน แม้ว่าเราอาจไม่รู้จักคำศัพท์ภาษาจีนนั้นๆมาก่อน แต่ถ้ารู้หลัก "พินอิน" แล้วล่ะก็ เราก็จะสามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้องทั้งที่อาจจะยังไม่รู้ความหมายของมันเลยก็ตาม
สรุปแล้วการเรียนพินอินจะช่วยให้ผู้เรียนภาษาจีนออกเสียงได้อย่างถูกต้องแม่นยำไม่ว่าเรียนภาษาจีนจากมุมไหนของโลก และยังช่วยให้ผู้เรียนจดจำคำศัพท์ได้ง่ายขึ้นและเรียนรู้ภาษาจีนได้เร็วขึ้นอีกด้วย
เคล็ดลับการเรียนพินอินคืออะไร?
จากประสบการณ์ในการสอนภาษาจีนกลางให้นักเรียนชาวไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 สถาบัน Learning East แนะนำว่าถ้าอยากเก่งพินอินให้ทำตามเคล็ดลับ 3 ข้อนี้ค่ะ
เคล็ดลับข้อที่ 1
ออกเสียงโดยวางตำแหน่งลิ้นและรูปปากให้ถูกต้องเพื่อให้เสียงออกมาชัดเจน
เคล็ดลับข้อที่ 2
หมั่นทบทวนหลักพินอินและฝึกออกเสียงบ่อยๆ จำไว้ว่ายิ่งฝึกฝน...การออกเสียงของเราก็จะยิ่งเป๊ะ!
เคล็ดลับข้อที่ 3
*ข้อนี้สำคัญมาก* ไม่ควร! เทียบเสียงพินอินเป็นภาษาไทยหรือเขียนตัวคาราโอเกะภาษาไทยกำกับไว้ข้างพินอินเด็ดขาด วิธีนี้อาจดูเป็นทางลัดที่ดี แต่ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนและอาจได้การออกเสียงผิดๆติดตัวไว้เป็นของแถม
แม้คนไทยจะได้เปรียบคนชาติอื่นๆในการเรียนพินอินเพราะภาษาไทยเรามีวรรณยุกต์เหมือนกัน แต่การเทียบเสียงพินอินกับวรรณยุกต์ไทยรวมทั้งพยัญชนะไทยเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างมาก เพราะจะทำให้ผู้เรียนจำเสียงที่แท้จริงของระบบพินอินไม่ได้ เป็นผลให้ออกเสียงผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐาน
ดังนั้น คำแนะนำสำหรับผู้เริ่มเรียนภาษาจีน คือ ให้หมั่นจดจำและฝึกฝนการออกเสียงตั้งแต่ช่วงแรกของการเรียนพินอินจนกระทั่งจำได้แม่นยำและออกเสียงได้อย่างเป็นธรรมชาติ แล้วหลังจากนั้นไม่ว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหน เราจะไม่มีวันลืมหลักการออกเสียงพินอินอีกเลยค่ะ
สถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจภาษาจีนเข้าใจหลักพินอินยิ่งขึ้น สนใจเรียนภาษาจีนกลางกับเลิร์นนิ่งอีสท์ มีหลักสูตรภาษาจีนสำหรับเด็กและหลักสูตรภาษาจีนสำหรับผู้ใหญ่และวัยทำงาน ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน-ระดับสูง โทร 083-5469598, 083-5469545 หรือแอดไลน์ด้านล่างเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของเราได้เลยค่ะ
บทความแนะนำ :
- ภาษาจีนเรียนยากจริงไหม?
- 6 ไอเดียสาขาน่าเรียนในประเทศจีน
- รู้จัก YCT การสอบวัดระดับภาษาจีนสำหรับเด็ก
- 40 ประโยคภาษาจีนใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน
- 100 คำกริยาใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน (ฉบับ 3 ภาษา)
- วิธีนับเลขหลักสิบถึงล้านล้านแบบจีน
- คำศัพท์ภาษาจีนหมวด "อาหารการกิน"
ติดตามสาระความรู้ภาษาจีนกลางเข้าใจง่ายได้เป็นประจำที่
เพจ Learning East ภาษาจีนเรียนสนุก จำง่าย มั่นใจ
เรียนภาษาจีนกลางอย่างมั่นใจที่สถาบันเลิร์นนิ่งอีสท์
มีหลักสูตรระดับพื้นฐาน-ระดับสูงสำหรับเด็กและผู้ใหญ่แบบเรียนที่สถาบันและเรียนออนไลน์
เรียนสด สนุก เข้าใจง่าย ใช้สื่อสารได้จริง
ออกแบบและพัฒนาหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อผู้เรียนชาวไทยโดยเฉพาะ
∞ Learning East ตัวจริงด้านภาษาจีนกลาง ก่อตั้งปี พ.ศ. 2551 ∞
นัดทดลองเรียน / สอบถามข้อมูล
กดปุ่มด้านล่างได้เลยค่ะ