เปิดตำนานวันสารทจีน 中元节 : บรรพบุรุษ - ภูตผี - ประตูนรก
ย้อนไปในวัยเด็กหลายคนคงชอบฟังเรื่องราวลึกลับเหนือธรรมชาติที่ทั้งน่ากลัวและตื่นเต้นพาให้จินตนาการโลดแล่นไปไกล เมื่อเวลาผ่านไปความสนใจในเรื่องราวเหล่านี้จึงค่อยๆเลือนหายไปเมื่อขยับเข้าใกล้โลกแห่งความจริงทีละนิด...
ในบทความนี้เหล่าซือจะมาเล่าให้ฟังถึงเทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งของจีนที่ผสมผสานความเชื่อเรื่องภูติผีปีศาจเข้ากับหลักคุณธรรมว่าด้วยความกตัญญูได้อย่างลงตัวซึ่งก็คือ ‘วันสารทจีน’ นั่นเองค่ะ
(หมายเหตุ: ในเดือน 7 ประเทศจีนยังมีเทศกาลสำคัญอีกเทศกาลหนึ่งคือ ‘เทศกาลชีซีเจี๋ย’ หรือที่รู้จักกันในฐานะวันวาเลนไทน์จีน อ่านบทความคลิก https://www.learningeast.com/Qixi-Festival)
วันสารทจีนคืออะไร?
ในภาษาพูดคนจีนทั่วๆไปมักเรียกวันสารทจีนว่า 鬼节 guǐjié (กุ่ยเจี๋ย) ที่แปลว่า ‘เทศกาลผี’ บ้างก็เรียก 七月半 qī yuèbàn (ชีเยว่ป้าน) ที่แปลว่า ‘ครึ่งเดือน 7’ เพราะวันสารทจีนตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติ
ส่วนผู้ที่นับถือลัทธิเต๋าจะเรียกเทศกาลนี้ว่า 中元节 zhōngyuán jié (จงหยวนเจี๋ย) ซึ่งก็เป็นชื่อที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี แต่ก็ยังไม่หมดเท่านี้นะคะ...เพราะวันสารทจีนยังมีชื่อเรียกตามแบบพุทธว่า 盂兰盆节 yú lán pén jié (หยูหลานเผินเจี๋ย) ที่ทับศัพท์มาจาก ‘เทศกาลอุลลัมพน’ (Ullambana) อันมีที่มาจาก ‘อุลลัมพนสูตร’ ที่เหล่าซือกำลังจะเล่าต่อไปด้วย
วันสารทจีนมีความสำคัญยังไง?
วันสารทจีนเป็นวันที่สะท้อนค่านิยมของชาวจีนที่ยึดมั่นในความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เช่นเดียวกับเทศกาลเช็งเม้งและเทศกาลฉงหยาง (วันผู้สูงอายุจีน) ในวันนี้ลูกหลานจะจัดพิธีเซ่นไหว้บรรพชนและอุทิศส่วนกุศลให้แก่วิญญาณไร้ญาติ สำหรับประเทศไทยเองวันสารทจีนถือเป็นเทศกาลของจีนที่มีความสำคัญรองจากเทศกาลตรุษจีนอีกด้วยค่ะ
แค่เกริ่นก็เริ่มยาวแล้ว ต่อไปเรามาฟังตำนานความหลอนซึ่งเป็นที่มาของเทศกาลนี้กันเลยค่ะ!
เปิดตำนานวันสารทจีน
ตำนานอันเป็นที่มาของวันสารทจีนจะมี 2 ตำนานด้วยกันดังนี้ค่ะ
ตำนานที่ 1
เป็นตำนานที่มีที่มาจากความเชื่อในลัทธิเต๋าที่ว่า ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 เป็นวันคล้ายวันประสูติของตี้กวานต้าตี้ (地官大帝dì guān dàdì) 1 ใน 3 ผู้เป็นใหญ่ใน 3 โลก ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโลกของดินและลบล้างสิ่งชั่วร้ายให้แก่มวลมนุษย์ ในวันนี้ของทุกปีตี้กวานต้าตี้จะลงมาสำรวจบุญบาปในโลกมนุษย์ ส่งผลให้ประตูนรกเปิดออกเพื่อให้ดวงวิญญาณทั้งหลายกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อเยี่ยมลูกหลานและสะสางความแค้น ดังนั้นในวันนี้ชาวจีนจึงได้จัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ รวมทั้งทำทานให้แก่บรรดาวิญญาณเร่รอนที่ไร้ญาติ
ตี้กวานต้าตี้
ตำนานที่ 2
เป็นตำนานตามความเชื่อในอุลลัมพนสูตรในศาสนาพุทธ อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมู่เหลียน (目連 mù lián) หรือพระมหาโมคคัลลานะ พระภิกษุอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เรื่องราวมีอยู่ว่ามารดาของมู่เหลียนเป็นคนใจบาปหยาบช้า อยู่มาวันหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจ นางได้ออกอุบายให้คนถือศีลมากินอาหารเจที่บ้านแต่กลับผสมมันหมูลงไปด้วย เมื่อตายไปจึงตกอเวจีมหานรกหรือนรกขุมที่ 8 ซึ่งเป็นนรกขุมที่ลึกที่สุดและได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
ต่อมาด้วยความกตัญญูมู่เหลียนจึงเพ่งจิตส่งอาหารลงไปให้มารดาในนรก แต่ก็ได้กลายเป็นไฟไปเสียทุกครั้ง มู่เหลียนทุกข์ใจมากจึงนำความกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงตรัสอุลลัมพนสูตรซึ่งว่าด้วยการถวายอาหาร ธูปเทียน และเครื่องไทยทานแด่พระสงฆ์จากทุกสารทิศในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บิดามารดาในชาติปัจจุบันและย้อนหลังไป 7 ชาติ มู่เหลียนจึงปฏิบัติตามนี้ส่งผลให้มารดาพ้นจากอบายภูมิ และนี่จึงเป็นที่มาของเทศกาลอุลลัมพนที่คนไทยรู้จักกันในชื่อประเพณีเทกระจาดหรือประเพณีทิ้งกระจาดอีกด้วย
ว่าด้วยพิธีเซ่นไหว้และการเผากงเต๊ก
วันสารทจีนต่างจากเทศกาลอื่นๆของจีนตรงที่จะแบ่งของไหว้เป็น 3 ชุด ได้แก่
1. ชุดของไหว้เจ้าที่ (ช่วงเช้า)
ได้แก่ เนื้อสัตว์ เช่น เป็ด ปลา หมู ไก่ ผลไม้มงคล เช่น ส้ม กล้วย สับปะรด องุ่น แก้วมังกร และของหวาน ได้แก่ ขนมเทียนขนมเข่ง
2. ชุดของไหว้บรรพบุรุษ (ช่วงสายหรือบ่าย)
จัดคล้ายชุดของไหว้เจ้าที่ แต่ให้จัดจำนวนชามข้าวและชุดน้ำชาตามจำนวนของบรรพบุรุษ และมีอาหารที่ผู้ล่วงลับเคยโปรดปรานเมื่อครั้งยังมีชีวิตด้วย
3. ชุดของไหว้สัมภเวสี
ทำเป็นพิธีสุดท้ายโดยจะจัดชุดไหว้ไว้นอกบ้าน มีของคาว ของหวาน ผลไม้ และมีข้าวคลุกกระเทียมเจียว (คอปึ่ง) มีเผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่ เหล้า น้ำชา ฯลฯ
นอกจากการจัดเตรียมอาหารเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ในวันสารทจีนก็คือ การเผากงเต๊ก
การเผากงเต๊ก
คำว่า ‘กงเต๊ก’ มาจากภาษาจีนคือ 功德 gōngdé (กงเต๋อ) ที่มาจาก 功 ที่หมายถึง ‘การกระทำ’ และ 德 ที่หมายถึง ‘คุณธรรม’ เมื่อรวมกันจึงหมายถึง ‘การกระทำที่มีคุณธรรม’ ซึ่งในที่นี้ก็คือการแสดงความกตัญญูและจิตเมตตาด้วยการส่งเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ในรูปของกระดาษผ่านเปลวไฟไปให้ผู้ล่วงลับที่อยู่อีกภพนั่นเอง ในยุคแรกกงเต๊กจะเป็นเพียงการเผากระดาษเงินกระดาษทองและเสื้อผ้าเท่านั้น ต่อมาจึงพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของใช้แบรนด์เนม สมาร์ทโฟน อุปกรณ์แก็ดเจ็ตล้ำสมัย ต่อมาในยุคโควิดก็มีการเผาหน้ากากอนามัยและวัคซีนส่งไปให้บรรพบุรุษด้วย
วันสารทจีน...จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันชาวจีนบางส่วนได้งดจัดของเซ่นไหว้ แต่จะเผากระดาษเงินกระดาษทองและกงเต๊กส่งไปให้ผู้ล่วงลับเท่านั้น สำหรับพิธีลอยโคมในแม่น้ำหรือปล่อยโคมขึ้นฟ้าที่มาจากความเชื่อที่ว่าแสงไฟจะช่วยนำทางให้ดวงวิญญาณไปสู่ภพภูมิที่ดีนั้น ปัจจุบันในบางพื้นที่ของจีนยังคงมีอยู่ค่ะ
การลอยโคมเพื่อนำทางดวงวิญญาณไปสู่ภพภูมิที่ดี
มาถึงตรงนี้เราก็ได้รู้จักตำนานและความเชื่อในวันสารทจีนกันพอหอมปากหอมคอแล้ว คราวนี้เรามาดูเกร็ดความเชื่อสนุกๆเกี่ยวกับสิ่งที่ห้ามทำในวันสารทจีนดูบ้างค่ะ ^^
ข้อห้ามในวันสารทจีน
ด้วยความเชื่อที่ว่าวันสารทจีนเป็นวันที่ประตูนรกเปิดออกเพื่อให้บรรดาวิญญาณทั้งหลายทั้งดีและร้ายขึ้นมายังโลกมนุษย์ จึงมีข้อห้ามต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์อย่างเราๆถูกวิญญาณรบกวน ใครไม่อยากพบกับอุบัติเหตุและโชคร้ายก็ลองมาดูสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในวันนี้กันนะคะ
- ห้ามหมั้น แต่งงาน และเริ่มทำธุรกิจใหม่
- ห้ามย้ายบ้าน ปรับปรุงบ้าน หรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่
- ห้ามเดินทางไปต่างประเทศ
- ห้ามอยู่นอกบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดิน
- ห้ามว่ายน้ำ ตากผ้า ถ่ายรูปตอนกลางคืน
- ห้ามทาเล็บสีดำ
- ห้ามขานรับเสียงแปลกๆ
- ห้ามสัมผัส แตะต้อง เดินข้ามของไหว้ข้างถนน
- ห้ามปักตะเกียบลงในจานข้าว
- ห้ามฆ่าแมลงเม่า ผีเสื้อ ตั๊กแตนโดยเฉพาะที่พบในบ้าน (เพราะอาจเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ!)
นอกจากนั้นในแต่ละประเทศยังมีข้อห้ามในวันสารทจีนแตกต่างกัน เหล่าซือได้รวบรวมอันที่น่าสนใจมาให้แฟนๆเลิร์นนิ่งอีสท์อ่านกันด้านล่างแล้วค่ะ
สิงคโปร์
- ห้ามใส่เสื้อผ้าสีแดง
- ห้ามตัดผมตอนกลางคืน
- ห้ามทำผมปิดหน้าผาก (เพราะหน้าผากเป็นศูนย์กลางของพลังหยาง ตรงข้ามกับพลังหยินที่ดึงดูดเหล่าวิญญาณได้ง่าย)
ฮ่องกง
- ห้ามหันสลิปเปอร์เข้าหาเตียง
- ห้ามโกนขนขา
- ห้ามผิวปากตอนกลางคืน
- ห้ามอยู่ใกล้กำแพง (เพราะเป็นที่ชุมนุมของดวงวิญญาณ)
- ห้ามขึ้นรถสาธารณะเที่ยวสุดท้าย
ไต้หวัน
- ห้ามกางร่มในบ้าน
- ห้ามแขวนกระดิ่งลมโดยเฉพาะที่ทำจากทองแดง
- ห้ามไปทะเล แม่น้ำ หรือภูเขาหลัง 5 โมงเย็น
- ห้ามจุดธูปหรือสวดมนต์ที่วัด
สรุป
โดยสรุปแล้ว หัวใจของวันสารทจีนคือการปลูกฝังให้ลูกหลานแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และแสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเหล่าวิญญาณไร้ญาติ และยังเป็นกุศโลบายให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน...ลึกซึ้งไหมล่ะคะ
ก่อนจากกันเหล่าซือของส่งท้ายด้วยคำศัพท์ภาษาจีนเกี่ยวกับเทศกาลสารทจีนเพื่อไม่ให้เสียชื่อสถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์สักหน่อย แล้วพบกันใหม่เทศกาลหน้านะคะ 再见!
รวมคำศัพท์ภาษาจีนน่ารู้เกี่ยวกับวันสารทจีน
- 中元节 zhōngyuán jié (จงหยวนเจี๋ย) วันสารทจีน
- 盂兰盆节 yú lán pén jié (หยูหลานเผินเจี๋ย) เทศกาลอุลลัมพน
- 盂兰盆经 yú lán pén jīng (หยูหลานเผินจิง) อุลลัมพนสูตร
- 道教 dàojiào (ต้าวเจี้ยว) ลัทธิเต๋า
- 道教徒 dàojiào tú (ต้าวเจี้ยวถู) ผู้นับถือลัทธิเต๋า
- 佛教 fójiào (โฝเจี้ยว) ศาสนาพุทธ
- 佛教徒 fójiào tú (โฝเจี้ยวถู) ชาวพุทธ
- 地狱 dìyù (ตี้อวู้) นรก
- 鬼节 guǐjié (กุ่ยเจี๋ย) เทศกาลผี
- 饿 è (เอ้อ) หิวโหย
- 鬼 guǐ (กุ๋ย) ผี
- 饿鬼 èguǐ (เอ้อกุ๋ย) ผีที่หิวโหย
- 祖先 zǔxiān (จู๋เซียน) บรรพบุรุษ
- 父母 fùmǔ (ฟู่หมู่) พ่อแม่
- 孝敬 xiàojìng (เสี้ยวจิ้ง) กตัญญู
- 供品 gòngpǐn (ก้งผิน) ของเซ่นไหว้
- 祭祖 jìzǔ (จี้จู๋) เซ่นไหว้บรรพบุรุษ
- 香 xiāng (เซียง) ธูป
- 烧香 shāoxiāng (เชาเซียง) จุดธูป
- 功德gōngdé (กงเต๋อ) กงเต๊ก
- 纸钱 zhǐqián (จื๋อเฉียน) กระดาษเงินกระดาษทอง
- 烧纸钱shāo zhǐqián (เชาจื๋อเฉียน) เผากระดาษเงินกระดาษทอง
- 河灯hé dēnɡ (เหอเติง) โคมไฟสำหรับลอยน้ำ
- 神坛 shén tán (เฉินถาน) แท่นบูชา
- 阴气 yīn qì (อินชี่) พลังหยิน
- 阳气 yáng qì (หยางชี่) พลังหยาง
บทความแนะนำ :
- เปิดตำนานเทศกาลไหว้พระจันทร์ (中秋节)
- ขนมไหว้พระจันทร์ (月饼) ตำนาน ความเชื่อ และเกร็ดภาษาจีนน่ารู้
- เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง (端午节) เทศกาลนี้มีที่มา
- รู้จักวันเช็งเม้ง (清明节) และคำศัพท์น่ารู้
- รู้จักวันวาเลนไทน์จีน 七夕节 (ชีซีเจี๋ย)
- อาหารไหว้วันตรุษจีนและความหมายที่ซ่อนเร้น
- วันสงกรานต์ (泼水节) และคำศัพท์ภาษาจีนน่ารู้
ติดตามสาระความรู้ภาษาจีนกลางเข้าใจง่ายได้เป็นประจำที่
เพจ Learning East ภาษาจีนเรียนสนุก จำง่าย มั่นใจ
"เรียนภาษาจีนมาหลายปีแต่พูดไม่ได้สักที...เป็นเพราะแบบนี้หรือเปล่า?"
คุณเป็นคนนึงหรือเปล่าที่เรียนภาษาจีนมาหลายปีแต่ยังสื่อสารไม่ได้สักที?
ถ้าคำตอบคือ 'ใช่' ไม่ต้องแปลกใจ เพราะมีนักเรียนไทยมากมายที่ประสบปัญหานี้เช่นกัน
จบปัญหาเรียนจีนแต่พูดไม่ได้ฟังไม่ออก ใน 'คอร์สภาษาจีนออนไลน์เพื่อการสื่อสาร (แบบกลุ่ม)' จากสถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์
- เน้นพัฒนาทักษะการฟัง-พูดเพื่อการสื่อสารโดยเฉพาะ
- เรียนสดเป็นกลุ่มเล็กแบบออนไลน์ ฝึกฝนทั่วถึง
- บทเรียนมีประสิทธิภาพ ใช้สื่อสารได้จริง
- สอนโดยเหล่าซือชาวจีนที่มีประสบการณ์สอน นร. ไทยและต่างชาติ
ลงทะเบียน / สอบถามข้อมูล กดปุ่มด้านล่างได้เลยค่ะ