เปิดตำนานเทศกาลไหว้พระจันทร์ (中秋节) พร้อมคำศัพท์ภาษาจีนน่ารู้
เทศกาลไหว้พระจันทร์...เทศกาลสำคัญของจีนที่มีขึ้นปีละครั้งโดยมีสัญลักษณ์เป็น “ขนมไหว้พระจันทร์” และตำนาน “ฉางเอ๋อเหาะเหินสู่ดวงจันทร์” ที่ชาวจีนเล่าสู่กันฟังจากรุ่นสู่รุ่น ใครอยากรู้จักเทศกาลนี้ให้มากขึ้นก็ล้อมวงเข้ามาใกล้ๆ สถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์จะเล่าให้ฟัง!
“เทศกาลไหว้พระจันทร์” ภาษาจีนเรียกว่า 中秋节 zhōngqiū jié (จงชิวเจี๋ย) มาจากคำศัพท์ 3 คำนี้ประกอบกัน
- 中 zhōng (จง) กลาง
- 秋 qiū (ชิว) ฤดูใบไม้ร่วง
- 节 jié (เจี๋ย) เทศกาล
เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า “เทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง” เหมือนในภาษาอังกฤษที่เรียกเทศกาลนี้ว่า Mid-Autumn Festival ส่วนชื่อ “เทศกาลไหว้พระจันทร์” หรือ “วันไหว้พระจันทร์” ในภาษาไทย เป็นการเรียกโดยอิงจากพิธีไหว้พระจันทร์ที่ชาวจีนทำในวันนี้นั่นเองค่ะ
เทศกาลไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ตามปฏิทินสากลจะอยู่ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ซึ่งในประเทศจีนตรงกับกลางฤดูใบไม้ร่วงพอดี
คืนวันเทศกาลไหว้พระจันทร์ มองเห็นพระจันทร์เต็มดวงลอยเด่นบนท้องฟ้า
ประวัติความเป็นมาของเทศกาลไหว้พระจันทร์
ต้นกำเนิดของเทศกาลไหว้พระจันทร์มีที่มาหลายกระแส บ้างก็ว่ามาจากการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวซึ่งมีความสำคัญในสังคมจีนโบราณที่เป็นสังคมเกษตรกรรม โดยอาจย้อนรอยไปในสมัยราชวงศ์ชางที่ชาวบ้านบูชาเทพภูเขาที่ช่วยให้การเก็บเกี่ยวลุล่วงไปด้วยดี แต่คำว่า “กลางฤดูไม้ร่วง” นี้ได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในตำราโจวหลี่ (周礼 zhōulǐ) ที่มีการบันทึกพิธีการต่างๆในสมัยราชวงศ์โจว แต่กระนั้นก็ไม่ได้กล่าวถึง “กลางฤดูไม้ร่วง” ในแง่ที่เป็นเทศกาลแต่อย่างใด
เทศกาลไหว้พระจันทร์เริ่มมาเป็นที่แพร่หลายในสมัยของจักรพรรดิถังสวนจง (唐玄宗 táng xuán zōng) แห่งราชวงศ์ถังผู้มีศรัทธาในลัทธิเต๋า พระองค์มีดำริให้จัดพิธีเฉลิมฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์อย่างเป็นทางการ หลังจากได้เสด็จเยือนพระราชวังบนดวงจันทร์ด้วยพระองค์เอง และในราชวงศ์ถังนี่เองที่เริ่มมีธรรมเนียมชมจันทร์เกิดขึ้น โดยเริ่มในหมู่ชนชั้นสูงก่อนแล้วจึงแพร่หลายมาสู่ราษฎร
ตำนานฉางเอ๋อเหาะเหินสู่ดวงจันทร์ : กำเนิดเทพธิดาแห่งดวงจันทร์
นอกจากการเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวแล้ว วันไหว้พระจันทร์ก็เช่นเดียวกับเทศกาลจีนอื่นๆที่มักมีตำนานอันน่าทึ่งเกี่ยวกับเหล่าเทพเจ้าบนท้องฟ้า โดยที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้นตำนาน “ฉางเอ๋อเหาะเหินสู่ดวงจันทร์” (嫦娥奔月 cháng'é bènyuè) ของคู่รัก ฉางเอ๋อ (嫦娥 cháng'é) และ โฮ่วอี้ (后羿 hòuyì) ที่เล่าว่า...
ในครั้งอดีตกาล บนท้องฟ้ามีดวงอาทิตย์อยู่ 10 ดวง ทำให้โลกร้อนระอุ พืชพรรณธัญญาหารไม่เจริญงอกงาม ผู้คนทุกข์ยากแสนสาหัส “โฮ่วอี้” นักยิงธนูฝีมือดี จึงใช้ลูกธนูเพียงดอกเดียวยิงเข้าใส่ดวงอาทิตย์ 9 ดวงจนเหลือเพียงดวงเดียว ทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษและได้รับรางวัลเป็นยาอายุวัฒนะที่ดื่มแล้วทำให้กลายเป็นเซียนและมีชีวิตอมตะจากเจ้าแม่ซีหวังหมู่ (西王母 xī wángmǔ) แต่โฮ่วอี้กลับไม่ยอมดื่มและขอให้ “ฉางเอ๋อ” ผู้เป็นภรรยาเก็บรักษาไว้ เพราะเขาไม่ต้องการมีชีวิตอมตะหากปราศจากฉางเอ๋ออยู่เคียงข้าง
วันหนึ่งกลางฤดูใบไม้ร่วงขณะที่โฮ่วอี้ออกไปล่าสัตว์ ลูกศิษย์คนหนึ่งนาม “เฝิงเหมิง” (逢蒙 féngméng บ้างก็เรียก “เผิงเหมิง”) ได้บังคับขู่เข็ญให้ฉางเอ๋อมอบยาอายุวัฒนะให้ ฉางเอ๋อไม่ยินยอมและตัดสินใจดื่มเสียเอง หลังจากดื่มร่างของนางได้ลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ด้วยความอาลัยรักต่อโฮ่วอี้ผู้เป็นสามี ฉางเอ๋อได้เหาะเหินไปสู่ดวงจันทร์ที่อยู่ใกล้กับโลกเพื่อที่มองลงมาแล้วจะยังได้เห็นสามี เมื่อโฮ่วอี้กลับจากล่าสัตว์และทราบเรื่องฉางเอ๋อจึงเสียใจมาก เขาแหงนมองดวงจันทร์พร้อมร้องเรียกภรรยาและได้มองเห็นเงาคล้ายกับฉางเอ๋อปรากฏอยู่บนนั้น
และนี่ก็คือเรื่องราวระหว่างฉางเอ๋อกับโฮ่วอี้ ก่อนที่ฉางเอ๋อจะกลายเป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ จะเห็นว่าในตำนานนี้โฮ่วอี้มีสถานะเป็น “วีรบุรุษ” ที่ช่วยชาวโลกไว้และถูกทรยศจากลูกศิษย์ที่หวังชิงยาอายุวัฒนะ แต่ก็มีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่โฮ่วอี้ได้กลายมาเป็น “ผู้ร้าย” เสียเอง เรื่องราวจะเป็นอย่างไรเรามาติดตามไปพร้อมๆกันนะคะ
ตำนานเวอร์ชั่นนี้เล่าว่า หลังจากโฮ่วอี้นำความผาสุกมาสู่ประชาชนด้วยการยิงธนูใส่ดวงอาทิตย์จนเหลือเพียงดวงเดียวก็ได้รับการสถาปนาให้เป็นกษัตริย์ ทว่า โฮ่วอี้กลับเป็นกษัตริย์ที่หลงมัวเมาในอำนาจและสุรานารี เข่นฆ่าผู้คนตามอำเภอใจ โฮ่วอี้ซึ่งรู้ตัวว่าตนสร้างความโกรธแค้นแก่ราษฎรจึงเดินทางไปยอดเขาคุนหลุนเพื่อหวังขอยาอายุวัฒนะจากเจ้าแม่ซีหวังหมู่ ทว่า ฉางเอ๋อ ผู้เป็นมเหสีกลัวว่าถ้าโฮ่วอี้มีอายุยืนยาวจะยิ่งนำพาความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรจึงตัดสินใจขโมยยาอายุวัฒนะมาดื่มเสียเอง หลังจากดื่มเข้าไปร่างของฉางเอ๋อจึงลอยขึ้นสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมาบนดวงจันทร์ก็ปรากฏร่างของเทพธิดาที่เชื่อกันว่าเป็นฉางเอ๋อ ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ชาวบ้านจึงจัดพิธีไหว้ดวงจันทร์ เพื่อแสดงความเคารพต่อฉางเอ๋อที่ช่วยปกปักรักษาให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข
โฮ่วอี้ ยิงธนูใส่ดวงอาทิตย์จากทั้งหมด 10 ดวง ให้เหลือเพียงดวงเดียว
หลังดื่มยาอายุวัฒนะ ฉางเอ๋อเหาะเหินสู่ดวงจันทร์และกลายเป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์
ว่าด้วยกระต่ายในดวงจันทร์
ถ้าพูดถึง “ดวงจันทร์” แล้วไม่พูดถึง “กระต่ายในดวงจันทร์” หรือ 月兔 (yuè tù) ก็ดูเหมือนจะขาดอะไรไปนะคะ ตำนานกระต่ายในดวงจันทร์นี้เป็นเรื่องเล่าของทางเอเชียตะวันออก ในแต่ละประเทศก็มีรายละเอียดต่างกัน แม้แต่ของจีนเองก็มีอยู่หลายเวอร์ชั่นโดยทุกเวอร์ชั่นล้วนสัมพันธ์กับ “ดวงจันทร์” โดยตำนานเล่าว่า...
มีกระต่ายตัวหนึ่งอาศัยอยู่บนดวงจันทร์ กระต่ายตัวนี้ทำหน้าที่ปรุงยาอายุวัฒนะให้กับ “ฉางเอ๋อ” เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ บ้างก็ว่ากำลังทำขนมไหว้พระจันทร์ (ตำนานญี่ปุ่นเล่าว่ากำลังตำแป้งสำหรับทำโมจิ) วันหนึ่งได้เกิดโรคอหิวาต์ระบาดครั้งใหญ่ในกรุงปักกิ่ง เทพธิดาฉางเอ๋อจึงส่งกระต่ายลงมารักษาโรคให้กับชาวบ้าน หลังจากรักษาชาวบ้านและกำจัดโรคร้ายสำเร็จ เจ้ากระต่ายจึงกลับขึ้นไปบนดวงจันทร์ ตั้งแต่นั้นมาเลยมีธรรมเนียมกราบไหว้บูชาเทพเจ้ากระต่ายในเทศกาลไหว้พระจันทร์ด้วย
โดยสรุปแล้ว จนถึงวันนี้ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าต้นกำเนิดหรือจุดประสงค์ที่แท้จริงของเทศกาลไหว้พระจันทร์มีเพื่อสิ่งใดกันแน่ แต่ไม่ว่าจะเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือเพื่อระลึกถึงเทพธิดาฉางเอ๋อ ที่แน่ๆในวันนี้พวกเราจะได้ลิ้มรสขนมไหว้พระจันทร์แสนอร่อยที่มีให้รับประทานกันปีละครั้ง และสำหรับชาวจีนแผ่นดินใหญ่เอง วันนี้ยังถือเป็นวันสำคัญที่จะได้เดินทางกลับบ้านไปอยู่ร่วมกับครอบครัวแบบพร้อมหน้าพร้อมตาอีกด้วยค่ะ
ฉางเอ๋อกับความก้าวหน้าทางอวกาศของจีน
จากตำนานที่เหล่าซือเล่ามาข้างต้นจะเห็นว่าชาวจีนโบราณมีความผูกพันกับ “ดวงจันทร์” ไม่น้อย นอกจากเทศกาลไหว้พระจันทร์แล้ว ก็ยังมีบทกวี วรรณกรรม และตำนานอื่นๆอีกมากมายที่เกี่ยวกับดวงจันทร์ จวบจนยุคปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคการสำรวจอวกาศ จีนก็ได้ตั้งชื่อยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกตามชื่อของ “ฉางเอ๋อ” เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ โดยมียานลำแรกคือ ยานฉางเอ๋อ-1 (嫦娥一号) ที่เริ่มปฏิบัติการณ์ในปี ค.ศ. 2007 จนถึงยานรุ่นล่าสุดคือ ยานฉางเอ๋อ-5 (嫦娥五号) ที่ในปี ค.ศ. 2020 ประเทศจีนได้ประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์และนำกลับสู่โลกเป็นครั้งแรก นอกจากนั้นแล้วยานฉางเอ๋อ-5 ยังถือเป็นยานลำแรกในรอบ 44 ปี ที่มนุษย์ส่งไปเก็บวัตถุตัวอย่างบนดวงจันทร์ สร้างความภาคภูมิใจแก่ชาวจีนเป็นอย่างมาก
จีนส่งยานฉางเอ๋อ-5 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2020
ภาพจำลองยานฉางเอ๋อ-5 (เครดิต: CNSA/NASA)
วันไหว้พระจันทร์...ชาวจีนทำอะไรบ้าง?
ในศตวรรษที่ 21 ชาวจีนอาจไม่ได้มีความเชื่อหรือตระหนักถึงความสำคัญของเทศกาลไหว้พระจันทร์ในบริบทที่เคยเป็นมา แต่เทศกาลไหว้พระจันทร์ก็ยังเป็นหนึ่งในเทศกาลที่ชาวจีนตั้งตารอมากที่สุด เนื่องจากทางการจีนกำหนดให้เทศกาลนี้เป็นวันหยุดยาว* ชาวจีนที่ออกมาทำงานต่างเมืองจึงรอคอยที่จะใช้โอกาสนี้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อใช้เวลาร่วมกับครอบครัว ส่วนผู้ที่ไม่ได้เดินทางกลับบ้านก็จะใช้โอกาสนี้พักผ่อนหรือใช้เวลาร่วมกับเพื่อนสนิทมิตรสหาย
(*หมายเหตุ : รัฐบาลจีนมักกำหนดให้เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นวันหยุดยาวติดต่อกัน 3 วัน สำหรับเทศกาลอื่นๆที่จีนกำหนดให้เป็นวันหยุดยาวประจำปี ได้แก่ วันปีใหม่สากล, วันตรุษจีน, วันเช็งเม้ง, วันแรงงาน, เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง และวันชาติจีน)
ในคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ที่ตรงกับเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นคืนเดือนเพ็ญที่พระจันทร์เต็มดวงลอยเด่นบนท้องฟ้า กล่าวกันว่าคืนนี้พระจันทร์จะกลมโตและส่องสว่างงดงามที่สุดในรอบปี สมาชิกครอบครัวจะมารวมตัวกันเพื่อรับประทานอาหารค่ำ ชมความงามของดวงจันทร์ พร้อมรับประทาน “ขนมไหว้พระจันทร์” ซึ่งรูปทรงกลมของมันมีที่มาจากดวงจันทร์ และเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความสมัครสมานสามัคคีของคนในครอบครัว ตามธรรมเนียมแล้วเวลากินขนมไหว้พระจันทร์จึงต้องตัดแบ่งเป็นชิ้นขนาดเท่าๆกันเท่ากับจำนวนสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้นแล้ว ในคืนวันไหว้พระจันทร์ในบางพื้นที่ก็จะมีการไหว้ขอพรจากดวงจันทร์ โดยมักเริ่มตั้งโต๊ะบูชาตั้งแต่ตอนหัวค่ำที่ดวงจันทร์ปรากฏบนท้องฟ้าไปจนถึงประมาณ 4-5 ทุ่มและมีการจุดโคมด้วย
ครอบครัวรวมตัวกันกินขนมไหว้พระจันทร์และชมจันทร์ในคืนวันไหว้พระจันทร์
(อ่านตำนานและเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับขนมไหว้พระจันทร์ คลิก https://www.learningeast.com/mooncake)
สุดท้ายนี้ เหล่าซือขออวยพรทุกคนส่งท้ายที่ได้ติดตามอ่านบทความมาจนถึงตรงนี้สักนิด...
祝福中秋佳节快乐,月圆人圆事事圆满!
Zhùfú zhōngqiū jiājié kuàilè yuèyuán rén yuán shìshì yuánmǎn.
(จู้ฝูจงชิวเจียเจี๋ยคว่ายเล่อเยว่หยวนเหรินหยวนชื่อชื่อหยวนหม่าน)
สุขสันต์เทศกาลไหว้พระจันทร์ ขอให้พระจันทร์เต็มดวงจงดลบันดาลให้ทุกท่านสมปรารถนาในทุกสิ่ง
ใครจะนำคำอวยพรนี้ไปใช้อวยพรเพื่อนฝูงในเทศกาลไหว้พระจันทร์ก็ไม่ว่ากัน หรือถ้ายาวไปจะอวยพรสั้นๆแบบด้านล่างก็ได้เหมือนกันค่ะ
中秋节快乐!
Zhōngqiū jié kuàilè.
(จงชิวเจี๋ยคว่ายเล่อ)
สุขสันต์เทศกาลไหว้พระจันทร์
Happy Mid-Autumn Festival ค่ะทุกคน! :)
คำศัพท์ภาษาจีนกลางน่ารู้จากเทศกาลไหว้พระจันทร์
พร้อมพินอินและคำอ่านภาษาไทย
- 中秋节 zhōngqiū jié (จงชิวเจี๋ย) เทศกาลไหว้พระจันทร์
- 秋天 qiūtiān (ชิวเทียน) ฤดูใบไม้ร่วง
- 中秋节快乐 zhōngqiū jié kuàilè (จงชิวเจี๋ยคว่ายเล่อ) สุขสันต์เทศกาลไหว้พระจันทร์
- 月亮 yuèliang (เยว่เลี่ยง) พระจันทร์
- 满月 mǎnyuè (หม่านเยว่) พระจันทร์เต็มดวง
- 赏月 shǎngyuè (ฉางเยว่) ชมจันทร์
- 嫦娥奔月 cháng'é bènyuè (ฉางเอ๋อเปิ้นเยว่) ฉางเอ๋อเหาะเหินสู่ดวงจันทร์
- 嫦娥 cháng'é (ฉางเอ๋อ) ฉางเอ๋อ
- 后羿 hòuyì (โฮ่วอี้) โฮ่วอี้
- 月兔 yuè tù (เยว่ทู่) กระต่ายในดวงจันทร์
- 月饼 yuèbǐng (เยว่ปิ่ง) ขนมไหว้พระจันทร์
- 团圆 tuányuán (ถวนหยวน) รียูเนี่ยน
- 灯笼 dēnglóng (เติงหลง) โคม
บทความภาษาจีนกลางน่ารู้อื่นๆ :
- ขนมไหว้พระจันทร์ (月饼) ตำนาน ความเชื่อ และเกร็ดภาษาจีนน่ารู้
- เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง...เทศกาลนี้มีที่มา
- รู้จักวันเช็งเม้ง (清明节) และคำศัพท์น่ารู้
- เปิดตำนานวันสารทจีน 中元节 : บรรพบุรุษ - ภูตผี - ประตูนรก
- วิธีบอก New Year's Resolution เป็นภาษาจีน
- อาหารไหว้วันตรุษจีนและความหมายที่ซ่อนเร้น
- วันสงกรานต์ (泼水节) และคำศัพท์ภาษาจีนน่ารู้
- วันวิสาขบูชา 卫塞节 และคำศัพท์ภาษาจีนน่ารู้
ติดตามสาระความรู้ภาษาจีนกลางเข้าใจง่ายได้เป็นประจำที่
เพจ Learning East ภาษาจีนเรียนสนุก จำง่าย มั่นใจ
∞ เรียนภาษาจีนกลางอย่างมั่นใจที่สถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์ ∞
มีหลักสูตรสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทั้งแบบเรียนที่สถาบัน (ONSITE) และเรียนออนไลน์ (ONLINE)
ไม่มีพื้นฐานก็เก่งภาษาจีนได้ เพราะมีหลักสูตรรองรับตั้งแต่ระดับพื้นฐาน-ระดับสูง
เรียนสด สนุก เข้าใจง่าย ใช้สื่อสารได้จริง ทดลองเรียนฟรี
พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของเรา กดปุ่มด้านล่างได้เลยค่ะ