ขนมไหว้พระจันทร์ (月饼) ตำนาน ความเชื่อ และเกร็ดภาษาจีนน่ารู้

ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ 月饼 โดยสถาบันภาษาจีน Learning East

 

ถ้าพูดถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือ 中秋节 zhōngqiū jié (จงชิวเจี๋ย) ที่มีขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งอยู่ในราวเดือนกันยายนหรือตุลาคมของทุกปี คงไม่พูดถึง “ขนมไหว้พระจันทร์” ไม่ได้เพราะกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำเทศกาลนี้ไปแล้ว ด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามและรสชาติแสนอร่อยของไส้คาวหวานสารพัดไส้ ทำให้หลายคนแม้ไม่ได้มีเชื้อสายจีนก็รอให้ถึงช่วงเวลานี้ของปีเพื่อจะได้ลิ้มรสขนมไหว้พระจันทร์โดยเฉพาะ ในบทความนี้สถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์เลยอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับขนมไหว้พระจันทร์กันค่ะ :)

 

(อ่านตำนานเทศกาลไหว้พระจันทร์ พร้อมตำนานของ “ฉางเอ๋อ” เทพธิดาแห่งดวงจันทร์แบบเจาะลึก คลิก https://www.learningeast.com/Mid-Autumn-Festival)

 

ขนมไหว้พระจันทร์ภาษาจีนเรียกว่าอะไร? ทำไมถึงเป็นทรงกลม?

ขนมไหว้พระจันทร์ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า mooncake (เค้กพระจันทร์) ในภาษาจีนกลางเรียกว่า 月饼 yuèbǐng (เยว่ปิ่ง) ที่มาจากคำศัพท์ 2 คำประกอบนี้กัน

  • 月 yuè (เยว่) พระจันทร์
  • 饼 bǐng (ปิ่ง) ขนมลักษณะกลมแบนที่ทำมาจากแป้ง

 

ขนมไหว้พระจันทร์ ภาษาจีนเรียกว่า เยว่ปิ่ง (月饼) โดยสถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์ขนมไหว้พระจันทร์ ภาษาจีนเรียกว่า “เยว่ปิ่ง” (月饼)

 

แม้ทุกวันนี้เราจะเห็นขนมไหว้พระจันทร์เป็นทรงกลมบ้าง ทรงสี่เหลี่ยมบ้าง แต่รูปทรงแท้ๆแต่ดั้งเดิมของมันจะเป็นรูปทรงกลมเหมือนกับ “พระจันทร์เต็มดวง” ที่ลอยเด่นบนท้องฟ้าในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งเป็นวันไหว้พระจันทร์นั่นเองค่ะ

 

ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ 月饼 โดยสถาบันภาษาจีน Learning East“พระจันทร์เต็มดวง” ที่มาของรูปทรงกลมของขนมไหว้พระจันทร์

 

สำหรับชาวจีน รูปทรงกลมๆของขนมไหว้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความสมัครสมานสามัคคีของคนในครอบครัว ตามธรรมเนียมแล้วเวลากินขนมไหว้พระจันทร์จึงต้องตัดแบ่งเป็นชิ้นขนาดเท่าๆกันเท่ากับจำนวนสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ของทุกปี รัฐบาลจีนกำหนดให้เป็นวันหยุดยาวโดยส่วนใหญ่มักหยุดติดต่อกัน 3 วัน ครอบครัวชาวจีนจึงถือโอกาสนี้เดินทางกลับมารวมตัวกันที่บ้านเกิดแล้วรับประทานอาหารค่ำและกินขนมไหว้พระจันทร์ร่วมกันพลางชมความงามของพระจันทร์เต็มดวงไปด้วย นอกจากนั้นแล้วในช่วงเทศกาลนี้ก็ยังมีการมอบขนมไหว้พระจันทร์เป็นของขวัญให้กับญาติสนิทมิตรสหายเพื่อแสดงความรักและความปรารถนาดีต่อกันอีกด้วยค่ะ

 

เกร็ดประวัติศาสตร์น่ารู้ : ขนมไหว้พระจันทร์กับการกู้ชาติจีน

ขนมไหว้พระจันทร์ ไม่ได้เป็นเพียงขนมโบราณที่ชาวจีนรับประทานเมื่อถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์เท่านั้น แต่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือที่ใช้กอบกู้ชาติจากการกดขี่ของมองโกล...

 

ตำนานเล่าว่าในศตวรรษที่ 13 ที่จักรวรรดิมองโกลเรืองอำนาจและแผ่ขยายอิทธิพลในเอเชียกลาง รัสเซีย ยุโรปตะวันออก รวมทั้งในจีนที่ชาวมองโกลได้สถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นมาและกดขี่ข่มเหงชาวจีนอย่างโหดร้ายทารุณ โดยมีนโยบายเช่นให้ชาวจีน 10 ครัวเรือนทำงานรับใช้ครอบครัวชาวมองโกล 1 ครอบครัว โดยใน 10 ครัวเรือนนั้นจะมีมีดทำครัวได้เพียง 1 เล่มเท่านั้น ซึ่งหากจะใช้งานก็ต้องได้รับอนุญาตจากชาวมองโกลเสียก่อน ความอยุติธรรมเช่นนี้สร้างความขุ่นเคืองให้แก่ชาวจีนเป็นอย่างมาก

 

มีชายหนุ่มชาวจีนผู้หนึ่งนาม จูหยวนจาง (朱元璋 zhū yuán zhāng) ซึ่งเคยเป็นเด็กกำพร้าและขอทานเร่ร่อน ได้เข้าร่วมกลุ่มต่อต้านมองโกลและกลายเป็นผู้นำกลุ่มในเวลาเพียง 3 ปี จูหยวนจางได้รู้จักกับ หลิวปั๋วเวิน (刘伯温 liú bó wēn) หรืออีกชื่อหนึ่งคือหลิวจี (刘基 liújī) นักปราชญ์ชาวจีนซึ่งขณะนั้นทำงานให้กับรัฐบาลมองโกล และได้ชักชวนให้หลิวปั๋วเวินรับหน้าที่เป็นนักยุทธศาสตร์ทหารประจำกลุ่ม

 

ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ 月饼 โดยสถาบันภาษาจีน Learning Eastหลิวปั๋วเวิน (刘伯温 ค.ศ. 1311-1375) นักยุทธศาสตร์ทหารและปรัชญาเมธีชาวจีน

 

หลิวปั๋วเวินสังเกตว่าชาวมองโกลไม่กินขนมไหว้พระจันทร์ที่ชาวจีนรับประทานกันในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ จึงออกอุบายให้ชาวจีนเขียนข้อความนัดหมายที่มีใจความว่า ให้สังหารชาวมองโกลในวันที่ 15 เดือน 8 ลงบนกระดาษแล้วสอดไส้ไว้ในขนมไหว้พระจันทร์แล้วทำการแจกจ่ายให้แก่ชาวจีน พร้อมกับแพร่ข่าวลือว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้นและวิธีป้องกันก็คือต้องกินขนมไหว้พระจันทร์เสีย เพื่อให้มั่นใจว่าชาวบ้านจะได้รับสาส์นลับนี้ถ้วนหน้า และเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 อันเป็นคืนวันไหว้พระจันทร์ ชาวจีนจึงจับอาวุธขึ้นสังหารชาวมองโกล และในเวลาไม่ถึง 10 ปี ก็สามารถโค่นล้มราชวงศ์หยวนของมองโกลได้สำเร็จ และได้ก่อตั้งราชวงศ์หมิงที่ปกครองโดยชาวจีนขึ้นมา โดยจูหยวนจาง ผู้นำกลุ่มต่อต้านมองโกล ได้สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิหงอู่ (洪武 hóngwǔ) จักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิงที่ปกครองจีนยาวนานถึง 276 ปี

 

ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ 月饼 โดยสถาบันภาษาจีน Learning Eastจูหยวนจาง (朱元璋 ค.ศ. 1328-1398) ซึ่งต่อมากลายเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง

 

ขนมไหว้พระจันทร์ : เมื่อประเพณีโบราณและการตลาดสมัยใหม่มาพบกัน

ขนมไหว้พระจันทร์ส่วนใหญ่มักทำเป็นรูปทรงกลมตามประเพณีดั้งเดิม ด้านบนปั๊มลวดลายสวยงามหรือมีตัวอักษรจีนที่มีความหมายมงคล ด้านนอกทำมาจากแป้ง ด้านในสอดไส้ชนิดต่างๆตั้งแต่ไส้ยอดนิยมอย่างโหงวยิ้ง, ถั่วแดง, เม็ดบัว และไส้ที่ทำจากวัตถุดิบแปลกๆใหม่ๆที่ผู้ผลิตแต่ละเจ้าแข่งกันพัฒนามาเอาใจผู้บริโภคในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นไส้ครีมชีส, คัสตาร์ด, ดอกไม้, ซีฟู้ด หรือแม้แต่นำขนมไหว้พระจันทร์ไปผสมผสานกับของหวานชนิดอื่นๆจนกลายเป็นเมนูใหม่อย่าง “ขนมไหว้พระจันทร์โมจิไอศกรีม” ที่ตอนนี้หากินได้ไม่ยากแล้วก็มี นอกจากรสชาติที่แปลกใหม่สร้างสรรค์ ทุกวันนี้ยังมีการแข่งขันกันทำแพ็คเกจจิ้งหรือกล่องบรรจุขนมไหว้พระจันทร์ให้มีความสวยงามน่าสะสม เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างคุณค่าทางจิตใจให้แก่ผู้ที่ได้รับเป็นของขวัญ  

 

โหงวยิ้ง...ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ยอดฮิต

สำหรับ “ขนมไหว้พระจันทร์ไส้โหงวยิ้ง” ขนมไหว้พระจันทร์ไส้คลาสสิกที่เป็นไส้โปรดของหลายๆคน (รวมทั้งเหล่าซือด้วยค่ะ ^^) ในภาษาจีนเรียกว่า  五仁月饼 wǔ rén yuèbǐng (อู่เหรินเยว่ปิ่ง) โดย 五仁 หมายถึง ธัญพืช 5 ชนิด เพราะในการทำไส้โหงวยิ้งจะใช้ถั่วและธัญพืช 5 ชนิด ได้แก่ อัลมอนด์ วอลนัท เมล็ดฟักเขียวอบแห้ง เมล็ดฟักทองอบแห้ง เมล็ดงา (อาจแตกต่างไปจากนี้แล้วแต่สูตร) ผสมเข้ากับส่วนผสมอื่นๆอย่างฟักเชื่อม เปลือกส้ม ผิวมะกรูด มันหมู ทำให้ขนมไหว้พระจันทร์ไส้โหงวยิ้งมีทั้งความคาวและหวานในไส้เดียวกันจนทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ติดใจ

 

ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ 月饼 โดยสถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์ขนมไหว้พระจันทร์ไส้โหงวยิ้ง ทำจากธัญพืช 5 ชนิด

 

ขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะ...ขวัญใจคนรุ่นใหม่

“ขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะ” หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า 冰皮月饼 bīng pí yuèbǐng (ปิงผีเยว่ปิ่ง) มีต้นกำเนิดมาจากฮ่องกงและได้รับความนิยมในจีนตอนใต้ มีวิธีการทำและลักษณะแตกต่างจากขนมไหว้พระจันทร์แบบดั้งเดิม กล่าวคือจะนึ่งแป้งข้าวเหนียวให้สุกแล้วนำมาปั้นกับไส้ที่ต้องการโดยไม่ผ่านการอบร้อน รวมทั้งมีการผสมสีลงไปในเนื้อแป้ง แป้งที่ออกมาจึงให้รสสัมผัสที่อ่อนนุ่มละมุนลิ้นแถมยังมีสีสันสวยงามต่างจากขนมไหว้พระจันทร์ทั่วๆไปที่เนื้อแป้งแข็งตัวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทองจากความร้อน ด้วยเหตุนี้ขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะจึงเป็นขนมไหว้พระจันทร์ที่ถูกใจผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ที่สวยงาม

           

ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ 月饼 โดยสถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์ขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะมีจุดเด่นที่เนื้อเนียนนุ่มและสีสันสวยงาม

 

เรียนภาษาจีนกลางจากขนมไหว้พระจันทร์

อย่างที่เหล่าซือได้เกริ่นมาในตอนต้นว่า ขนมไหว้พระจันทร์ ภาษาจีนกลางเรียกว่า 月饼 yuèbǐng (เยว่ปิ่ง) คราวนี้เหล่าซือจะมาสอนวิธีพลิกแพลงในการเรียกขนมไหว้พระจันทร์หลายๆแบบ ซึ่งนักเรียนสามารถนำโครงสร้างเหล่านี้ไปประยุกต์เรียกขนมชนิดอื่นๆได้เช่นกันค่ะ

 

วิธีที่ 1 - เรียกแบบเต็มยศ

ถ้าต้องการเรียกแบบเต็มยศคือมีทั้งชื่อขนมและชื่อไส้ให้ใช้โครงสร้างดังนี้

โครงสร้าง

ชื่อไส้ + 月饼 แปลว่า ขนมไหว้พระจันทร์(ไส้)…

ตัวอย่าง

五仁 + 月饼 = 五仁月饼 แปลว่า ขนมไหว้พระจันทร์(ไส้)โหงวยิ้ง

榴莲 + 月饼 = 榴莲月饼 แปลว่า ขนมไหว้พระจันทร์(ไส้)ทุเรียน

 

วิธีที่ 2 - เรียกแต่ชื่อไส้

คำว่า ไส้ (เช่น ไส้ขนม) ภาษาจีนใช้คำว่า xiàn (เสี้ยน) ถ้าต้องการเรียกชื่อไส้เดี่ยวๆ โดยไม่ต้องระบุว่าเป็นขนมอะไร ก็ให้นำ 馅 ไปต่อท้ายชื่อไส้นั้นๆ  

โครงสร้าง

ชื่อไส้ + 馅 แปลว่า ไส้...

ตัวอย่าง

五仁 + 馅 = 五仁馅 แปลว่า ไส้โหงวยิ้ง  

榴莲 + 馅 = 榴莲馅 แปลว่า ไส้ทุเรียน

 

วิธีที่ 3 - เรียกขนมไหว้พระจันทร์ตระกูลบัวหิมะ   

คำว่า บัวหิมะ ภาษาจีนใช้คำว่า 冰皮 bīng pí (ปิงผี) ถ้าต้องการเรียกขนมไหว้พระจันทร์ตระกูลบัวหิมะเป็นภาษาจีนก็ให้ใช้โครงสร้างนี้ค่ะ

โครงสร้าง

ชื่อไส้ + 冰皮 + 月饼 แปลว่า ขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะ(ไส้)…

ตัวอย่าง

榴莲 + 冰皮 + 月饼 = 榴莲冰皮月饼 แปลว่า ขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะ(ไส้)ทุเรียน

绿茶 + 冰皮 + 月饼 = 绿茶冰皮月饼 แปลว่า ขนมไหว้พระจันทร์บัวหิมะ(ไส้)ชาเขียว

 

**ข้อสังเกต : ในการแปลภาษาจีนจะเรียงจากข้างหลังมาข้างหน้าเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ ต่างจากภาษาไทยที่เรียงจากข้างหน้าไปข้างหลัง**

 

ด้านล่างนี้เป็นชื่อไส้ต่างๆของขนมไหว้พระจันทร์ในภาษาจีน เมื่อรู้จักคำศัพท์แล้วก็อย่าลืมนำมาประยุกต์กับวิธีเรียกทั้ง 3 แบบที่เหล่าซือเพิ่งสอนไป สถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์หวังว่าทุกคนจะสนุกกับการเรียนภาษาจีนนะคะ :)

 


 

ขนมไหว้พระจันทร์ไส้ต่างๆในภาษาจีนกลาง

พร้อมพินอินและคำอ่านภาษาไทย

 

ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ 月饼 โดยสถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ 月饼 โดยสถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ 月饼 โดยสถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์

 

  1. 中秋节 zhōngqiū jié (จงชิวเจี๋ย) เทศกาลไหว้พระจันทร์
  2. 月饼 yuèbǐng (เยว่ปิ่ง) ขนมไหว้พระจันทร์
  3. 馅 xiàn (เสี้ยน) ไส้ขนม
  4. 元朝 yuáncháo (หยวนฉาว) ราชวงศ์หยวน 
  5. 蒙古帝国 měnggǔ dìguó (เหมิงกู่ตี้กั๋ว) จักรวรรดิมองโกล
  6. 蒙古人 měnggǔ rén (เหมิงกู่เหริน) ชาวมองโกล
  7. 五仁 wǔ rén (อู่เหริน) โหงวยิ้ง
  8. 红豆沙 hóngdòu shā (หงโต้วชา) ถั่วแดงกวน
  9. 莲蓉 liánróng (เหลียนหรง) เม็ดบัวกวน
  10. 莲蓉蛋黄 liánróng dànhuáng (เหลียนหรงต้านหวง) เม็ดบัวไข่เค็ม
  11. 榴莲 liúlián (หลิวเหลียน) ทุเรียน
  12. 榴莲蛋黄 liúlián dànhuáng (หลิวเหลียนต้านหวง) ทุเรียนไข่เค็ม
  13. 绿茶 lǜchá (ลวู่ฉา) ชาเขียว
  14. 黑芝麻 hēi zhīma (เฮยจือมา) งาดำ
  15. 巧克力 qiǎo kè lì (เฉี่ยวเค่อลี่) ช็อกโกแลต
  16. 果蔬 guǒshū (กว่อชู) ผักผลไม้
  17. 冰皮 bīng pí (ปิงผี) บัวหิมะ

 


 

บทความภาษาจีนกลางน่ารู้อื่นๆ :

 


 

ติดตามสาระความรู้ภาษาจีนกลางเข้าใจง่ายได้เป็นประจำที่

เพจ Learning East ภาษาจีนเรียนสนุก จำง่าย มั่นใจ

 

 

 


 

∞ เรียนภาษาจีนกลางอย่างมั่นใจที่สถาบันภาษาจีนเลิร์นนิ่งอีสท์ 

มีหลักสูตรสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ทั้งแบบเรียนที่สถาบัน (ONSITE) และเรียนออนไลน์ (ONLINE)

ไม่มีพื้นฐานก็เก่งภาษาจีนได้ เพราะมีหลักสูตรรองรับตั้งแต่ระดับพื้นฐาน-ระดับสูง

เรียนสด สนุก เข้าใจง่าย ใช้สื่อสารได้จริง ทดลองเรียนฟรี

 

 

 

 

พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของเรา กดปุ่มด้านล่างได้เลยค่ะ


Visitors: 274,197